ครอบครัวดี…สังคมมีสุข Happy Family Happy Society
เรื่อง : ครอบครัวมีความสุข
ครอบครัวมีสุข
ครอบครัวเป็นสถานที่หรือสถาบันสังคมแห่งแรกของมนุษย์ทุกคน มีหน้าที่หลอมคนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ตามวัฒนธรรมหนึ่งๆ และฟูมฟักความเป็นคนให้แก่เด็กยิ่งไปกว่านั้น ครอบครัวสำคัญตรงที่ทำหน้าที่สร้างบุคลิกภาพ และเราอยู่กับครอบครัวมากกว่าอยู่ในที่อื่นใด ถ้าครอบครัวมีความสุข บุคคลก็จะสามารถพัฒนาตัวเองไปในทางที่ถูกต้องและมีความสุขด้วยได้ นอกจากนั้นยังเป็นคนมองโลกในแง่ดี ปรับตัวได้ มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ถ้าครอบครัวไม่มีความสุข เราก็จะกลายเป็นคนหงุดหงิด อาจมองโลกในแง่ร้าย อาจสร้างปมด้อย อาจทำให้เราเป็นคนก้าวร้าว และขาดมนุษยสัมพันธ์ที่ดีได้
ครอบครัวจึงเป็นสถาบันพื้นฐานที่เราต้องให้ความสนใจมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะสังคมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แต่ก่อนนี้ครอบครัวไทยเป็นครอบครัวใหญ่ มีปู่ย่าตายายอยู่รวมกันหรือมีพี่ป้าน้าอาลูกหลานอยู่ร่วมกันหลายคน ความสำคัญของแต่ละคนก็เปลี่ยนกันไป มาบัดนี้พ่อแม่ลูกอาจต้องอยู่กันตามลำพัง อาจมีหรือไม่มีคนรับใช้ แต่ละคนจึงมีความสำคัญสูง ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว ซึ่งมีจำนวนน้อยลงจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญไปด้วย จริงๆแล้ว ทุกคนก็อยากมีครอบครัวที่มีความสุขด้วยกันทั้งนั้น ทำอย่างไรจึงจะมีความสุขได้ จากการสังเกตและประสบการณ์ ความสุขในครอบครัว น่าจะประกอบด้วยเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้
1) สุขภาพของสมาชิกในครอบครัวจะต้องดี สุขภาพมักเป็นเรื่องที่หลายคนมองข้ามไป โดยถือเอาว่าสุขภาพจะดีด้วยตัวของมันเองหรือพูดง่ายๆว่าใครๆก็มีสุขภาพดีกันทั้งนั้น ซึ่งไม่จริง การมีสุขภาพดีต้องประกอบด้วยการรักษาสุขภาพ และการรักษาสุขภาพ คือ ต้องสร้างนิสัยดีทางสุขภาพ เริ่มต้นด้วยการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ระมัดระวังโรคภัยไข้เจ็บอันอาจป้องกันได้ มีการออกกำลังกายตามสมควร ทุกคนได้พักผ่อนนอนหลับ รวมทั้งอยู่ในสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่ไม่เป็นภัยต่อร่างกาย(ซึ่งหมายถึงการสูบบุหรี่ด้วยก็ยังได้ แม้ว่า หลายคนอาจไม่เห็นด้วยก็ตาม)
เมื่อมีการป่วยไข้เกิดขึ้น จะเห็นว่าครอบครัวอยู่ในสภาพที่ไม่ปกติ มีการวิตกกังวล มีความห่วงใยและเป็นทุกข์ ในบางกรณีที่มีการเจ็บป่วยอย่างเรื้อรัง จะเห็นว่าครอบครัวจะเครียดและมีผลกระทบกับความเป็นอยู่ของทุกคนในครอบครัว
2) ครอบครัวที่มีความสุขจะต้องมีเวลาให้กันและกัน สามีภรรยาที่ต่างคนต่างมีภาระและกิจกรรมของตัวเอง มีความสนใจไปคนละอย่าง เช่น สามีไปตีกอล์ฟ ภรรยาไปเล่นไพ่อะไรอย่างนี้ คงจะหาความสุขด้วยกันยากในฐานะเป็นครอบครัว สามีและภรรยาที่ไม่มีเวลาให้กันและกัน จะเริ่มเหินห่างกันมากขึ้น และในที่สุดต่างก็จะแสวงหาความสุขที่อื่นและกับคนอื่น มีสามีภรรยาคู่หนึ่งที่ต่างก็มีธุรกิจของตัวเอง งานค่อนข้างยุ่ง แต่บางทีเห็นเขานัดรับประทานอาหารเที่ยงกันเป็นครั้งคราว และได้รับคำบอกเล่าว่า เขาทั้งสองอยากมีเวลาคุยกันตามลำพังบ้าง โดยไม่มีเพื่อนหรือลูกจะได้มีเวลาให้กันและกัน อีกคู่หนึ่งชอบออกวิ่งตอนเช้าๆด้วยกันก่อนไปทำงาน ส่วนอีกคู่หนึ่งชอบเข้าครัวทำอาหารด้วยกันวันเสาร์อาทิตย์
การให้เวลากับลูกๆยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ บางคนไปคิดว่า ลูกโตเป็นวัยรุ่นแล้วไม่ต้องการพ่อแม่และถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็ให้เวลาลูกมากหน่อย อันที่จริงไม่ว่าลูกเล็กหรือลูกโตก็จะต้องการเวลาจากพ่อแม่เสมอและทัดเทียมกัน พ่อแม่บางคนคิดว่าเวลาที่จะให้ลูกได้ คือเวลาที่ตัวเองสะดวก และหารู้ไม่ว่าเวลาสำคัญที่เป็นเวลาวิกฤต คือ เวลาที่ลูกต้องการพ่อแม่ ต้องการพูดด้วย ต้องการปรึกษาหารือ และต้องการความเอาใจใส่ พ่อแม่จึงควรหาเวลาให้ลูกให้ได้ มิฉะนั้นลูกก็จะไปหาคนอื่นหรือสิ่งอื่นทดแทน กว่าจะนึกได้ก็สายเสียแล้วก็มี มีพ่อแม่หลายรายที่เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ต้องทำมาหากินไม่มีเวลาให้ลูก ได้เคยให้ความคิดไปว่า ไม่มีเวลาให้ลูกเลยแปลว่าไม่ควรมีลูก ถ้ามีลูกแล้วต้องมีเวลาให้ นอกจากนั้นเวลาควรใช้อย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่นั่งอยู่ด้วยกันแต่ต่างคนต่างอ่านหนังสือและไม่พูดไม่ฟังกันเลย ถ้าพ่อแม่ให้เวลากับการทำมาหากินมากกว่าให้เวลาลูกก็แปลว่ารักเงินมากกว่ารักลูก
พ่อแม่ลูกควรมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน เคยเห็นพ่อแม่ลูกๆดูโทรทัศน์ด้วยกันอย่างสนุกสนาน พร้อมกับให้ความเห็นเรื่องที่กำลังดูอยู่นั้น หรือเดินทางท่องเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น กิจกรรมที่ทำร่วมกันจะช่วยเป็นพาหะสร้างความใกล้ชิดสนิทสนมอันเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ที่นำไปสู่ความสุข
3) ครอบครัวที่มีความสุข คือ ครอบครัวที่สื่อสารกันรู้เรื่อง สมาชิกในครอบครัวต้องสื่อสารกันตลอดเวลา จึงต้อง
(1) มีความเข้าใจในสาระให้ตรงกัน และ
(2) ต้องสื่อความรู้สึกได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยๆคือ การพูดที่เข้าใจกันไปคนละอย่าง หรือพูดคลุมเครือฟังไม่ชัดทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ บางทีเรื่องเล็กน้อย กลายเป็นเรื่องเถียงทะเลาะกันใหญ่โต
การสื่อสารความรู้สึกก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะวัฒนธรรมเรามีส่วนที่กีดกันไม่ให้เราแสดงความรู้สึกอย่างโจ่งแจ้ง ทำให้มีปัญหาเพิ่มขึ้นก็มี ภรรยาที่โกรธสามีแล้วไม่พูดด้วย เมื่อสามีถามว่าเป็นอะไร คำตอบที่มักจะได้ยินเสมอๆก็คือ ” เปล่า ” หรือ “ไม่มีอะไร” คำว่า ” เปล่า ” เป็นคำที่ใช้ค่อนข้างฟุ่มเฟือยในภาษาของเรา และไม่ทราบว่าจะตีความอย่างไรดี
การเก็บความรู้สึกแล้วอ้ำอึ้งไม่พูดไม่จาเกี่ยวกับปัญหา จะทำให้ปัญหาเพิ่มขึ้นและสะสม ไปเรื่อยๆ ทางที่ดีควรหาหนทางพูดกันให้รู้เรื่อง โดยพยายามฟังกันและกันไปด้วยมิใช่ว่าจะพูดข้างเดียวโดยไม่ฟังใครเลย สำหรับลูกๆก็เช่นกัน ควรอนุญาตให้ลูกๆแสดงความคิดเห็นและบรรยายอารมณ์ของตนได้เพื่อพ่อแม่จะได้รู้จักและเข้าใจลูกได้ดีขึ้น พร้อมทั้งเป็นการหัดให้ลูกได้ใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการปรึกษาหารือมากกว่าใช้ความก้าวร้าวทั้งทางกายและทางวาจา
ปัญหาที่ดูจะเกิดบ่อยๆคือ เรื่องที่พ่อแม่มักจะพูดกับลูกว่า ” เดี๋ยวแม่/พ่อไม่รักนะ” โดยใช้เป็นคำขู่ เพื่อให้ลูกเชื่อฟัง การสื่อสารชนิดนี้ก่อปัญหามากกว่าแก้ปัญหาเพราะลูกอาจเข้าใจจริงๆว่า พ่อแม่ไม่รัก หรือเข้าใจว่าความรักของพ่อแม่มีเงื่อนไข ซึ่งจริงๆแล้วอาจมิได้มีเจตนาให้เข้าใจไปอย่างนั้น การสื่อสารระหว่างกัน จึงไม่ควรใช้ข้อความหรืออารมณ์ที่เป็นการขู่ ไม่ว่าจะระหว่างพ่อแม่กับลูกหรือระหว่างสามีและภรรยา เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นความร้าวฉานอื่นๆต่อไปได้อีก
4) ครอบครัวที่มีความสุขคือ ครอบครัวที่จัดการเรื่องการเงินได้ คำกล่าวในสมัยหนึ่งที่ว่า ถ้ารักกันจริงแล้วกินเกลือก็ยังได้นั้น เข้าใจว่าจริงๆ แล้วคงจะเป็นไปไม่ได้ การดำรงชีวิตในลักษณะครอบครัวที่มีความสุขคงจะต้องอยู่ในสภาพเศรษฐกิจระดับหนึ่ง จะจนขนาดกินเกลือคงจะยาก ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่คือ จะจัดการเรื่องเงินอย่างไร ไม่ว่าจะมีเงินมากหรือน้อยเพียงไร คำถามที่ต้องถามระหว่างสามีภรรยามีหลายคำถาม เช่น ควรจะใช้จ่ายเงินอย่างไร ใครจ่ายเรื่องใด ควรเก็บเงินไว้สำหรับลูกอย่างไร หรือสำหรับอนาคตอย่างไร เป็นต้น
ครอบครัวไม่ว่าจะมั่งมีหรือยากจนต่างก็พบปัญหาเดียวกันนี้ทั้งนั้น วิธีที่จะช่วยให้ครอบครัวคลายความเครียดก็คือ จะต้องปรึกษาหารือทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน เรื่องเงินๆทองๆใครจะยอมใครในเรื่องใด เป็นต้น ในประเทศไทยยังมีการวิจัยที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องแบบแผนการตัดสินใจเรื่องเงินภายในครอบครัวแต่เท่าที่สังเกตดูเห็นว่าในประเทศเรานี้ สามีและภรรยาต่างมีบัญชีของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ และอาจมีบัญชีร่วมกันอีกอันหนึ่งต่างหาก การตัดสินใจเรื่องค่าใช้จ่ายดูจะคลุมเครือ ทำให้ครอบครัวมีปัญหาค่อนข้างมากเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรก็ดี หลักการที่น่าจะยังใช้ได้อยู่ คือ การพูดจาตกลงกันในเรื่องการจัดการเรื่องเงิน อย่างน้อยสำหรับค่าใช้จ่ายหลักเป็นเรื่องๆไป
5) ครอบครัวที่มีความสุข คือ ครอบครัวที่สามารถแบ่งความรับผิดชอบได้ การอยู่ร่วมกันนั้น สมาชิกภายในครอบครัวจะต้องแบ่งปันภาระหน้าที่ของตนไปอย่างน้อยแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบเรื่องของตัวเองส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่ง คือความรับผิดชอบต่อส่วนรวมลูกๆต้องถูกสอนและฝึกให้ดูแลตัวเองได้ รวมทั้งดูแล ข้าวของของตนเอง และสามารถรับผิดชอบเรื่องของส่วนรวมได้ด้วย เช่น การใช้ห้องน้ำ การใช้ห้องรับแขก ฯลฯ
สามีภรรยาเองก็มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ สมัยนี้ผู้หญิงทำงานนอกบ้านมากขึ้น สามีจึงควรต้องช่วยแบ่งเบาภาระในบ้าน เช่น การดูแลลูกๆและการช่วยเหลืองานบ้านบ้าง ซึ่งแต่ก่อนถือเป็นหน้าที่ภรรยาเกือบทั้งหมด เพราะภรรยาอยู่กับบ้านตลอดวัน
การช่วยเหลือกันและกันในครอบครัวจะช่วยให้ครอบครัวอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
6) ครอบครัวที่มีความสุข คือ ครอบครัวที่อยู่ด้วยกันบนพื้นฐานของความรักและการรู้จักให้อภัย ความรักกันและกันเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ความรักกันและทำให้เราเป็นห่วงเรื่องสุขภาพ ทำให้เราอยากให้เวลากันและกัน ทำให้เราอยากพูดกันรู้เรื่อง เข้าใจอารมณ์กันและกัน จัดการเรื่องเงินทองโดยปราศจากความเห็นแก่ตัว และช่วยเหลือกันและกันได้ ความรักทำให้เราให้อภัยกันและกันได้เช่นกัน เมื่อมีเรื่องที่ทำให้มีปัญหาและทำให้เรามีกำลังใจในการแก้ปัญหานั้นๆด้วย ความรักทำให้เกิดความอดทน และความรักทำให้เกิดการพัฒนาและสร้างสรรค์
7) ครอบครัวที่มีความสุข คือ ครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัวใช้ความพยายามที่จะให้ชีวิตครอบครัวเป็นสุข คำที่สำคัญ คือ ” ความพยายาม ” ความสุขไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่ทุกคน โดยเฉพาะสามี-ภรรยา หรือ พ่อแม่ ต้อง” พยายาม ” ทำให้เกิดขึ้นเหมือนกิจการที่ต้องลงทุนจึงจะได้กำไร กับครอบครัวก็ต้องลงทุนเหมือนกัน การลงทุนในครอบครัว ก็คือ การสร้างความตะหนักในความสำคัญของครอบครัว การใช้เวลา การใช้สติปัญญาและความสามารถและการวางแผนที่จะให้บังเกิดผล ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเกินไป
ครอบครัวของเราทุกคนก็จะมีความสุขได้ ถ้าสมาชิกในครอบครัวมีความรัก ความเข้าใจ ดูแล ให้อภัยซึ่งกันและกัน ให้ความอบอุ่น เอื้ออาทรต่อกันอย่างเสมอต้น เสมอปลาย ใช้จ่ายอย่างรู้คุณค่า
น.ส.พ สหกรณ์ ปีที่ 54 ฉบับที่ 1 มค.-มี.ค 37 หน้า 8-11